วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทำอย่างไรเมื่อลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน


ทำอย่างไรเมื่อลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน

Submitted by Editor on Wed, 11/18/2009 - 17:21

เคยได้ยินไหมคะว่าเด็กบางคนเริ่มขอเพิ่มค่าขนมจากพ่อแม่แต่กลับมาบ้านตอนเย็นด้วยความหิวโหย บางคนหลังจากย้ายโรงเรียนมาใหม่และมีเพื่อนใหม่อย่างรวดเร็วแต่สุดท้ายเรื่องไม่สบายใจที่เล่าให้เพื่อนใหม่ฟังกลับไปปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ เหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างที่การกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่อาจจะพบได้ค่ะ การกลั่นแกล้งมักหยั่งรากกลายเป็นรอยแผลฝังลึกอยู่ในใจเด็กและหลายครั้งที่กลายเป็นความหวาดกลัวจนโต ดังนั้นหากปัญหานี้เกิดขึ้นจึงควรหาทางช่วยทั้งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าและป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมาในระยะยาวด้วย ถึงแม้วันนี้จะยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่มากแต่การรีบคุยกับลูกเสียแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เด็กเตรียมตัวรับมือหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ค่ะ

การกลั่นแกล้งคืออะไร?

การกลั่นแกล้งคือการจงใจทำให้ผู้อื่นรู้สึกเจ็บปวดทั้งทางกาย, วาจา, หรือจิตใจ อาจพบได้ตั้งแต่การต่อยตีกัน, ผลัก, เรียกชื่อ, ขู่, หรือกรรโชกทรัพย์ เด็กบางคนกลั่นแกล้งด้วยการปล่อยข่าวลือหรือใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลางเพื่อให้คนที่โดนแกล้งรู้สึกเจ็บปวด
เด็กส่วนใหญ่เคยประสบกับการโดนล้อเลียนจากทั้งพี่น้องและเพื่อนๆ อย่างน้อยซักครั้งในชีวิต โดยปกติการล้อเลียนจะไม่อันตรายหากเป็นการล้อเล่นขณะที่เล่นด้วยกันหรือล้อเลียนในฐานะเพื่อนกัน บางครั้งการล้อเลียนอาจทำให้ผู้ถูกล้อรู้สึกภูมิใจเสียด้วยซ้ำ ล้อกันเสร็จก็ต่างคนต่างขำค่ะ แต่การล้อเลียนบางอย่างก็เจ็บปวดและแฝงไว้ด้วยความไม่เป็นมิตร เกินขอบเขตเสียจนกระทั่งคนโดนล้อและคนอื่นที่ได้ยินอยากจะให้หยุดเสียที
ดังนั้นการกลั่นแกล้งจึงเป็นปัญหาร้ายแรงที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามเพราะคิดว่าลูกคงจะจัดการได้เอง ผลจากการถูกกลั่นแกล้งกระทบโดยตรงต่อความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าของเด็กและส่งผลถึงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นในอนาคตด้วย

ทำไมเด็กจึงถูกกลั่นแกล้ง?

มีหลายเหตุผลที่ทำให้เด็กบางคนโดนกลั่นแกล้ง บางครั้งเด็กที่ชอบแกล้งจะเลือกเพื่อนที่ดูร่างกายหรือจิตใจอ่อนแอหรือดูแตกต่างกับคนอื่นขึ้นมาเป็นเหยื่อโดยมีความเชื่อว่าหากแกล้งคนๆ นั้นแล้ว ตนเองจะดูน่าชื่นชม ดูมีอำนาจควบคุมคนอื่นได้หรือมีความสำคัญเหนือผู้อื่นแต่ก็ไม่เสมอไปค่ะ บางคนแกล้งเพื่อนแค่เพราะตนเองเคยโดนปฏิบัติเช่นนี้มาก่อนดังนั้นจึงคิดว่าการกระทำเหล่านี้เป็นเรื่องปกติเพราะคนที่บ้านหรือเพื่อนที่โรงเรียนเก่าก็ทำกันอย่างนี้ เด็กอาจเคยเห็นพ่อแม่ตะโกนใส่กันเวลาโกรธ ด่าทอและทำร้ายร่างกายกัน หรือแม้แต่เคยเห็นฉากที่ฝ่ายหนึ่งพูดจาดูถูกอีกฝ่ายหนึ่งจากในโทรทัศน์โดยรู้เท่าไม่ถึงการว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

สัญญาณเมื่อเกิดการกลั่นแกล้งขึ้น

ถ้าลูกของเราไม่ได้บอกตรงๆ ว่าโดนแกล้งหรือเราเห็นรอยฟกช้ำกับตาตัวเองก็ยากที่จะบอกว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตามมีสัญญาณบางอย่างที่ช่วยเตือนให้สงสัยว่าอาจเกิดอะไรผิดปกติขึ้นได้ เช่น สังเกตว่าการแสดงออกของเด็กเปลี่ยนไป ดูกระวนกระวายมากขึ้น, ไม่รับประทานอาหาร, นอนไม่หลับ, หรือไม่อยากทำกิจกรรมบางอย่างที่เคยชอบทำมาก่อน หากพบว่าเด็กเริ่มหงุดหงิดหรือซึมเศร้าบ่อยขึ้นกว่าปกติหรือเริ่มหลีกเลี่ยงสถานการณ์บางอย่าง เช่น ไปโรงเรียนหรือไปขึ้นรถ อาจเกิดจากโดนกลั่นแกล้งได้ค่ะ

ถ้าเกิดการกลั่นแกล้งขึ้นและเด็กรู้สึกลำบากใจที่จะบอก ลองหาโอกาสยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดแบบอ้อมๆ นะคะ เช่น เมื่อเห็นเหตุกาณณ์ในโทรทัศน์ก็อาจจะพูดเปรยๆ ขึ้นว่า ไจแอนท์แกล้งโนบิตะอีกแล้ว ลูกคิดว่าโนบิตะจะทำยังไงต่อไปดีเนี่ยหรือ หนูเคยโดนแกล้งแบบโนบิตะมาก่อนมั้ยคะหรือบางครั้งอาจลองเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองหรือคนรอบข้างเคยประสบมาก่อนเมื่ออายุเท่าๆ กับเด็กก็ได้ พยายามให้เด็กเรียนรู้ว่าหากโดนกลั่นแกล้งหรือเห็นคนอื่นโดนแกล้ง เขาต้องบอกใครซักคนเรื่องนี้ อาจจะเป็นพ่อแม่ คุณครู หรือเพื่อนข้างบ้านไม่ก็พี่น้องก็ได้เช่นกัน

วิธีช่วยเด็กที่โดนกลั่นแกล้ง

ถ้ามีเด็กมาเล่าให้ฟังว่าโดนกลั่นแกล้ง แรกสุดเราต้องมุ่งเป้าไปที่การปลอบใจและทำให้เขารู้สึกปลอดภัยเสียก่อนค่ะ อย่าเพิ่งแสดงอารมณ์ออกไปว่าเรารู้สึกตกใจ โกรธ หรือเสียใจกับเรื่องนี้แค่ไหนเพราะเด็กอาจจะตกใจยิ่งขึ้น โดยปกติเด็กจะเล่าเรื่องการโดนแกล้งให้ผู้ใหญ่ฟังได้ลำบากอยู่แล้วเพราะกลัวว่าหากพ่อแม่หรือใครรู้เข้าจะรู้สึกผิดหวังในตัวเองว่าเพราะอะไรจึงปล่อยให้โดนแกล้งแบบนี้ เด็กบางคนคิดว่าเป็นความผิดของตัวเองด้วยซ้ำที่อ่อนแอหรือทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น ถ้ายอมๆ เพื่อนหรือทำเหมือคนอื่นคงไม่ต้องเจอแบบนี้ บางครั้งเด็กกลัวว่าเพื่อนที่แกล้งจะรู้ว่าตนมาฟ้องซึ่งจะยิ่งทำให้โดนแกล้งมากขึ้นไปอีก หรือบางครั้งเด็กอาจจะกลัวว่าพ่อแม่ไม่เชื่อหรือเชื่อแต่ทำอะไรลงไปซึ่งอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง บางคนไม่กล้าบอกเพราะกลัวว่าพ่อแม่จะบังคับให้สู้ตอบกลับไปซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการทำ

เมื่อรับฟังเรื่องราวแล้วให้ชื่นชมที่เขากล้านำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเลยนะคะ แล้วบอกลูกว่าหนูไม่ใช่คนเดียวที่โดนแบบนี้ มีคนอีกเยอะที่โดนแกล้ง ต้องย้ำว่าคนที่แกล้งคือคนผิดไม่ใช่เด็กที่โดนแกล้งผิด หลังจากนั้นต้องบอกให้เด็กรู้ว่าเราจะช่วยหาวิธีว่าจะทำอะไรได้บ้าง

บางครั้งพี่หรือลูกพี่ลูกน้องที่แก่กว่าอาจจะช่วยเข้ามาดูแลสถานการณ์ได้ดีค่ะ เราอาจลองยกตัวอย่างให้ลูกสาวคนเล็กฟังว่าพี่สาวที่หนูรักครั้งหนึ่งก็เคยโดนแกล้งเหมือนกัน และเล่าให้ฟังว่าพี่สาวจัดการกับเรื่องนั้นอย่างไร บางครั้งเพื่อนที่โรงเรียนอาจช่วยมาบอกว่าเกิดการกลั่นแกล้งขึ้นที่โรงเรียนกับลูกของเราหรือเล่าเหตุการณ์บางอย่างที่ชวนให้สงสัยก็ได้

หากภายหลังเราทราบว่าการกลั่นแกล้งหนักข้อขึ้นเพราะเด็กนำเรื่องนี้มาเล่าให้เราฟัง แบบนี้นิ่งเฉยไม่ได้แล้วค่ะ อาจจะต้องไปหาพ่อแม่ของเด็กที่แกล้งเลยนะคะหรือไม่ก็ไปหาคุณครูที่โรงเรียน หากคุยกับคุณครูแล้วยังรู้สึกว่าอยากคุยกับพ่อแม่เด็กที่แกล้งด้วยอาจจะคุยโดยผ่านการติดต่อจากทางโรงเรียนเพื่อให้คุณครูรับทราบก็ได้

คำแนะนำสำหรับเด็ก

สิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันลูกเราให้รอดพ้นจากการโดนกลั่นแกล้งคือการสอนให้เด็กรุ้จักรับมือกับคนที่จะมาแกล้งเสียก่อน นอกจากนั้นการทำให้เด็กภาคภูมิใจในตัวเองและเชื่อมั่นในตัวเองก็มีส่วนช่วยป้องกันเช่นกันค่ะ

บางทีพ่อแม่อาจจะโกรธและสงสารที่ลูกโดนรังแกเช่นนี้จึงบอกให้ลูกตอบโต้กลับไป หลายคนแนะนำลูกเช่นนี้เพราะตนเองก็ได้รับการสั่งสอนมาแต่เด็กว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเหมือนกัน เราสามารถแนะนำเช่นนี้ได้ค่ะเพียงแต่ต้องย้ำว่าการตอบโต้จะต้องไม่ทำด้วยวิธีชกต่อยหรือตอบโต้กลับด้วยการกลั่นแกล้งแบบเดียวกับที่โดนกระทำเพราะสุดท้ายอาจจะนำไปสู่ปัญหาการใช้ความรุนแรงหรือบาดเจ็บเลยก็ได้ วิธีตอบโต้ที่ดีอย่างคาดไม่ถึงคือให้เดินเลี่ยงออกมาและเข้าไปหากลุ่มคนหรือเพื่อนคนอื่น หลังจากนั้นค่อยนำเรื่องนี้ไปแจ้งผู้ใหญ่

มีเทคนิคเล็กน้อยที่เราแนะนำลูกได้เมื่อโดนแกล้งค่ะ
1.
หลีกเลี่ยงไม่พบคนที่มาแกล้งและใช้ระบบบัดดี้ - ถ้าอยู่หอพักแล้วเจอเพื่อนที่ชอบแกล้งเราอาบน้ำอยู่ห้องใกล้ๆ กัน พยายามเดินเลี่ยงไปใช้ห้องอื่นที่ห่างออกไปและไม่เดินเข้าไปในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าขณะที่ไม่มีใครอยู่ใกล้ๆ เวลาไปไหนมาไหนให้พยายามหาเพื่อนไปด้วยค่ะ ทั้งไปรับประทานอาหาร ขึ้นรถกลับบ้าน หรือกระทั่งเดินไปตามที่ต่างๆ ในโรงเรียนที่มักจะโดนแกล้งบ่อยๆ หากพบเพื่อนที่โดนแกล้งแบบเราอาจเป็นฝ่ายเข้าไปเสนอความช่วยเหลือก่อนก็ได้ค่ะ

2.ควบคุมความโกรธ เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะรู้สึกแย่เมื่อโดนแกล้งแต่ยิ่งรู้สึกไม่ดีเท่าไร คนที่แกล้งก็จะยิ่งสะใจมากเท่านั้น ดังนั้นต้องไม่ตอบสนองด้วยการร้องไห้หรือทำหน้าหงอยหรือแม้แต่กลั้นความโกรธจนหน้าแดง วิธีนี้อาจจะต้องฝึกกันนานหน่อยแต่จะเป็นทักษะที่มีประโยชน์ในอนาคตและช่วยป้องกันไม่ให้พวกชอบแกล้งเข้ามาหาเราค่ะ วิธีฝึก เช่น นับหนึ่งถึงสิบในใจ, เขียนคำพูดที่แสดงอารมณ์โกรธลงบนกระดาษ, หายใจเข้าลึกๆ, หรือเดินหนีไปทางอื่นก็ได้ บางคนอาจทำ หน้าตายไม่แสดงความรู้สึกอะไรจนกระทั่งเมื่อมั่นใจว่าปลอดภัยจากคนที่มาแกล้งแล้วก็ได้ค่ะ การหัวเราะหรือยิ้มเยาะใส่หน้าคนที่มาหาเรื่องอาจกระตุ้นให้รู้สึกอยากแกล้งมากขึ้นไปอีก

3.กล้าหาญเข้าไว้ ต้องกล้าที่จะเดินหนีและไม่สนใจคนที่จะมาแกล้ง พูดและแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าให้เขาหยุดทำแล้วเราก็เดินหนีออกมา ฝึกให้เด็กรู้จักวิธีที่จะเพิกเฉยไม่ใส่ใจโดยให้คิดเสียว่าพฤติกรรมหรือคำพูดที่เขาจงใจแกล้งเราเป็นเรื่องไม่น่าสนใจอะไร เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไปเสีย เมื่อคนที่มาแกล้งเห็นว่าเราไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร สักวันเขาก็จะเบื่อที่จะแกล้งไปเอง

4.บอกผู้ใหญ่ อาจเป็นคุณครู, ครูใหญ่, ผู้ปกครอง, หรือกระทั่งคุณป้าที่โรงอาหารก็ยังได้นะคะ ผู้ใหญ่สามารถช่วยได้เสมอค่ะ

5.เล่าออกมา เด็กควรเล่าให้ใครสักคนที่ไว้ใจฟัง เช่น คุณครู, พี่น้อง, หรือเพื่อน คนเหล่านี้อาจมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์นะคะ แม้จะไม่สามารถเข้ามาช่วยได้โดยตรงแต่การเล่าให้ใครสักคนรับรู้ก็ทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวค่ะ

6.ไม่พกสิ่งล่อใจ - ถ้าเพื่อนที่มาแกล้งต้องการให้เอาเงินค่าขนมไปให้ทุกวันให้เราเลี่ยงด้วยการเอาขนมและอาหารกลางวันมากินโดยไม่พกเงินมา หรือถ้าโดนขู่จะแย่งของเล่นก็ต้องไม่นำมาที่โรงเรียนค่ะ

คำแนะนำสำหรับพ่อแม่

พ่อแม่สามารถลดความรุนแรงของการโดนแกล้งให้ลูกได้เมื่ออยู่ที่บ้านค่ะ พยายามกระตุ้นให้เด็กอยู่กับเพื่อนหลายๆ คนและสร้างความมั่นใจให้ตัวเด็ก หรืออาจพาไปเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ นอกโรงเรียน เช่น เรียนดนตรีหรือกีฬาเพื่อให้มีโอกาสได้พบเพื่อนใหม่ๆ บ้างและกิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นใจและเข้มแข็งขึ้นด้วย อาจแนะนำให้เรียนศิลปะป้องกันตัว เช่น เทควันโด หรือกีฬาที่ช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายคล่องแคล่วขึ้น เช่น ยิมนาสติค

สิ่งสุดท้ายคือต้องระลึกเสมอว่ามีคนอีกมากมายที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือหากเกิดปัญหานี้ขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะคนในครอบครัวที่ต้องหาทางออกกันเองเท่านั้นค่ะ

รายการอ้างอิง
Michelle New. Helping Kids Deal With Bullies. 2007 June [cited 2009 November]. Available from: http://kidshealth.org/parent/emotions/feelings/bullies.html#.

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ปี 2556

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 โรงเรียนบ้านม่อนหินเหล็ำกไฟ ได้จัดกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ขึ้น ณ สนามกีฬาโรงเรียนบ้านม่อนหินเหล็กไฟ โดยมีผู้กำกับลูกเสือ ลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ และเนตรนารี เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 59 คน ซึ่งในพิธีมีการทำพิธีถวายราชสดุดี ทบทวนคำปฏิญาณตน และเดินสวนสนาม หลังจากนั้น ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ในบริเวณโรงเรียน