วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับเหรียญทอง ในการแข่งขันระดับภาคเหนือ โครงงานสุขศึกษาและพลศึกษา ป.1-6 ปี 2554

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2554 โรงเรียนบ้านม่อนหินเหล็กไฟ เป็นตัวแทนของ สพป.ตาก เขต 2  เข้าแข่งขันโครงงานสุขศึกษาและพลศึกษา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่ จ.พิจิตร โดยเรื่องที่ใช้เข้าแข่งขันในครั้งนี้ คือ โครงงานการทำลูกประคบด้วยสมุนไพรไทยที่มีอยู่ในท้องถิ่น โรงเรียนบ้านม่อนหินเหล็กไฟ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ผลการแข่งขัน ปรากฏว่า ได้ผ่านเกณฑ์การแข่งขันอยู่ในระดับ "เหรียญทอง" สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้แก่คณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง บ้านม่อนหินเหล็กไฟทุกคนโดยหลังจากการแข่งขันในครั้งนี้เสร็จสิ้นลง ทางโรงเรียนบ้านม่อนหินเหล็กไฟ ก็จะยังดำเนินโครงงานนี้ต่อไป ซึ่งทางโรงเรียนได้ทำการเปิดจำหน่ายสังจองลูกประคบด้วยสมุนไพรไทย ในราคา 35-45 บาท เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นการหารายได้ระหว่างเรียนของนักเรียน สนใจติดต่อได้ที่ 055-567225 /ติดต่อผ่านทาง ผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ.ประดิษฐ์  บุญลือ / คณะครูในโรงเรียนทุกท่าน /หรือติดต่อโดยตรงที่โรงเรียนในวันและเวลาราชการ















วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การทำลูกประคบแบบแห้งด้วยสมุนไพรไทยที่มีอยู่ในท้องถิ่นโรงเรียนบ้านม่อนหินเหล็กไฟ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ประจำปี 2554

วัสดุและอุปกรณ์ในการทำลูกประคบ


1. สมุนไพรไทยที่มีอยู่ในท้องถิ่นปริมาณต่อ 1 ลูก

1.1 ไพล 10 กรัม

1.2 ตะไคร้บ้าน 10 กรัม

1.3 ขมิ้นชัน 10 กรัม

1.4 ขมิ้นอ้อย 10 กรัม

1.5 ใบมะกรูด 10 กรัม

1.6 ใบมะขาม 10 กรัม

1.7 ใบส้มป่อย 10 กรัม

1.8 ใบขี้เหล็ก 10 กรัม

1.9 เกลือแกง 10 กรัม

1.10 พิมเสน 5 กรัม

1.11 การบูร 5 กรัม

รวม 100 กรัม / ลูก

2. วัสดุอื่นๆ

2.1 ผ้าขาวบางขนาด กว้างXยาว 13 นิ้ว X 13 นิ้ว / ผืน

2.2 กรรไกร

2.3 เชือกขาวสำหรับผูกลูกประคบ ยาวประมาณ 26 นิ้ว

2.4 มีด เขียง กระดง ถาด

2.5 กะละมังเล็ก ทัพพีสำหรับผสมสมุนไพร ช้อนสำหรับตักสมุนไพร

2.6 เครื่องชั่ง

วิธีการทำลูกประคบ

สูตรการทำลูกประคบสมุนไพรแห้ง 100 กรัม ต่อ 1 ลูก

1. ไพล (Zingiberaceae) จำนวน 10 กรัม

2. ขมิ้นชัน (Turmeric) จำนวน 10 กรัม

3. ขมิ้นอ้อย (Zedoary) จำนวน 10 กรัม

4. ใบมะกรูด (Kaffir lime, leech lime) จำนวน 10 กรัม

5. ตะไคร้บ้าน (Lemon Grass, Lapine) จำนวน 10 กรัม

6. ใบส้มป่อย (Acacia concinna) จำนวน 10 กรัม

7. ใบมะขาม (Tamarind) จำนวน 10 กรัม

8. ใบขี้เหล็ก (Cassod Tree, Thai Copper Pod) จำนวน 10 กรัม

9. พิมเสน (Borneo camphor) จำนวน 5 กรัม

10. การบูร (Camphor) จำนวน 5 กรัม

11. เกลือแกง (salt) จำนวน 10 กรัม

ลูกประคบสมุนไพรแห้ง ประกอบด้วยสมุนไพร 11 ชนิด ที่มีสรรพคุณแตกต่างกันจึงทำให้ลูกประคบได้ชื่อว่า เป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ ได้แก่

1. เหง้าไพล (Zingiberaceae) บรรเทาปวดเมื่อยลดการอักเสบ


 2. ขมิ้นชัน (Turmeric) บรรเทาฟกช้ำ เม็ดผดผื่นคัน


3. ขมิ้นอ้อย (Zedoary) บรรเทาฟกช้ำ เม็ดผดผื่นคัน


4. ใบมะกรูด (Kaffir lime, leech lime) บรรเทาลมวิงเวียน


5. ตะไคร้บ้าน (Lemon grass, Lapine) บรรเทาปวดเมื่อยลดอาการอักเสบ


6. ใบส้มป่อย (Acacia concinna) ช่วยบำรุงผิว ชำระเมือกมัน


7. ใบมะขาม (Tamarind) บรรเทาอาการคันตามร่างกาย บำรุงผิว ชำระไขมัน


8. ใบขี้เหล็ก (Cassod Tree, Thai Copper Pod) ช่วยละลายไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้หลับสบาย

 

9. พิมเสน (Borneo camphor) แต่งกลิ่น แก้พุพอง แก้หวัด


10. การบูร (Camphor) แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ แก้พุพอง


11. เกลือแกง (salt) ช่วยดูดความชื้น ช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้อย่างสะดวก


ขั้นตอนการทำลูกประคบสมุนไพรแห้ง

การปรุงลูกประคบสมุนไพร
1. เตรียมสมุนไพรทั้ง 11 ชนิดให้พร้อมก่อนลงมือปรุง นำสมุนไพรมาชั่งน้ำหนักแต่ละชนิดตามสูตรมาตรฐานที่กำหนดไว้



 2. นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าเข้ากัน เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วให้นำมาทดสอบน้ำหนักรวมกันอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงนำมาห่อลูกประคบ



การห่อลูกประคบ

1. นำส่วนทั้งหมดมาวางตรงกลางของผ้า เริ่มต้นจับมุมผ้า 2 มุม ขึ้นมาทบกัน โดยจับทีละมุมจนครบทั้ง 4 มุม จากนั้นจะเกิดมุมผ้าขึ้นมาอีก 4 มุม ให้รวบมุมผ้าที่ละมุม อีกครั้งหนึ่งจนครบทั้ง 4 มุม


2. แต่งชายผ้าให้เรียบร้อย ซ้อนกันเป็นชายเดียว จากนั้นค่อย ๆ จัดแต่งลูกประคบให้เป็นรูปทรงกลมที่สวยงาม


3. เมื่อได้ลูกประคบเป็นรูปทรงกลมที่สวยงามแล้ว ให้นำเชือกมาพับครึ่ง ร้อยเป็นห่วง ให้ชายทั้งสองเท่ากัน จากนั้นพันทบกัน 2 รอบแล้วผูกให้แน่นด้วยเงื่อนตาย 1 รอบ ก็จะทำให้เหลือปลายผ้าที่เท่ากันทั้งสองข้าง จากนั้นจึงค่อย ๆ จัดระเบียบชายผ้าในส่วนที่จะทำด้ามจับ

4. การทำด้ามจับ โดยการจับชายผ้าที่เหลือมาซ้อนกันให้เรียบร้อย เสร็จแล้วพับเข้าหากันเพื่อเก็บซ่อนชายผ้าทั้งสองด้าน

5. หลังจากที่เราจัดแต่งและซ่อนชายผ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้พับลงมาประมาณ 2 นิ้วครึ่ง เพื่อทำด้ามจับใช้ปลายเชือกเส้นเดิมมาพันทบกันอีก 2 รอบโดยการผูกแบบเงื่อนตายให้แน่น อีกครั้งหนึ่ง

6. จากนั้นให้ซ่อนปลายเชือกไว้ในซอกผ้าตรงรอยพับที่เป็นด้ามจับ และเพื่อให้ลูกประคบมีความแข็งแรงสวยงาม คงทนต่อการใช้งาน ให้นำเชือกป่านผูกให้แน่นอีกครั้งโดยผูกแบบเงื่อนตาย ให้ปลายด้านหนึ่งยาวประมาณ 2 นิ้วครึ่ง เสร็จแล้วให้ยกขึ้นมาแนบกับด้ามจับใช้ปลายเชือกส่วนที่ ยาวกว่าค่อย พันขึ้นมา โดยใช้ปลายนิ้วไล่กดเชือกให้แน่น การทำเช่นนี้จะทำให้เชือกเรียงกันดูสวยงามและเป็นระเบียบ เมื่อพันจนสุดชายเชือกแล้วให้ผูกเงื่อนตายไว้กับปลายเชือกเส้นที่แนบไว้กับด้ามจับในตอนแรก จากนั้นซ่อนปลายไว้ในซอกผ้าที่เป็นด้ามจับ เพียงเท่านี้ก็จะได้ลูกประคบที่สวยงามพร้อมใช้งาน

7. นำลูกประคบไปบรรจุถุงพลาสติกผูกด้วยลวดสีทองให้สวยงามและติดป้ายสรรพคุณและวิธีการใช้ลูกประคบ


นักเรียนศึกษาดูงานแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านห้วยไม้แป้นและพระธาตุผาแดง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 โรงเรียนบ้านม่อนหินเหล็กไฟ ได้นำนักเรียนจำนวน 12 คน พร้อมคณะครู 1 คน เข้าศึกษาดูงานการทำลูกประคบและการแพทย์แผนไทยเกี่ยวกับสมุนไพรไทยต่างๆ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านห้วยไม้แป้นและพระธาตุผาแดง โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคุณหมอและเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล โดยการศึกษาดูงานในครั้งนี้ นักเรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำลูกประคบ และความรู้เรื่องสมุนไพรไทยต่างๆ รวมถึงสถานที่บริการการนวดแผนโบราณ การอบสมุนไพร การรักษาโรคต่างๆ ด้วยสมุนไพรไทย